สารพันความรู้

“แกล้งดิน” แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย

“แกล้งดิน” แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย

"แกล้งดิน" แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย
“แกล้งดิน” แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย

“แกล้งดิน”

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราช ฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้ อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมา ทำให้ทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ประสบปัญหาอยู่นานัปการ ราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุสำคัญในการดำรงชีพพื้นที่ดินพรุที่มีการ ระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากสารไพไรท์ที่มีอยู่ในดินทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกหรือทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัดจึงได้มี พระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการศูนย์ศึกษา การพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ” ขึ้น ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2524 เพื่อศึกษา และปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้ สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้าน อื่น ๆ ได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่อง “แกล้งดิน” ความว่า

“…ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้ง ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัด นราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลอง ในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลอง ควรเป็นข้าว…”

แกล้งดินทำอย่างไร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงดิน โดยวิธีการ “แกล้งดิน” คือ ทำให้ดินเปรี้ยว เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด กล่าวคือ การทำให้ดินแห้ง และเปียกโดยนำน้ำเข้าแปลงทดลองระยะหนึ่ง และระบายน้ำออกให้ดินแห้งระยะหนึ่งสลับกัน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดมากยิ่งขึ้น ด้วยหลักการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นปกติในแต่ละปี แต่ให้ใช้วิธีการร่นระยะเวลาช่วงแล้ง และช่วงฝนในรอบปีให้สั้นลง โดยปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือน สลับกันไป เกิดภาวะดินแห้ง และดินเปียก 4 รอบ ต่อ 1 ปี เสมือนกับมีฤดูแล้งและฤดูฝน 4 ครั้ง ใน 1 ปี หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดิน ดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้

แกล้งดินแล้วปรับปรุงดิน : วิธีการที่สำคัญ

เมื่อดำเนินการตามกรรมวิธี “แกล้งดิน” แล้วก็ใช้วิธีการปรับปรุงดิน ซึ่งเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้เพาะปลูกได้ โดยมีหลายวิธีการด้วยกันดังนี้

– ใช้ปูน เช่น ปูนขาว หินปูนฝุ่น ใส่ลงไปในดิน แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปูนจะทำปฏิกริยากับกรดกำมะถันในดิน เกิดสารสะเทิน ปริมาณกรดในดินจะลดลง ซึ่งหากใส่ในปริมาณที่มากพอจะช่วย ให้ดินมีสภาพเป็นกลาง

– ใช้น้ำจืดล้างกรดและสารพิษออกจากดินโดยตรง วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน เนื่องจากกรดจะชะล้างออกไปอย่างช้า ๆ แต่ได้ผลเช่นกัน

– ยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยมีคูน้ำอยู่ด้านข้าง ให้นำหน้าดินจากดินในบริเวณที่เป็นคูมา เสริมหน้าดินเดิมที่เป็นคันร่อง ก็จะได้หน้าดินที่หนาขึ้น ส่วนดินที่มีสารไพไรท์จะใช้เสริมด้านข้าง เมื่อใช้น้ำชะล้างกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะล้างไปยังคูด้านข้าง แล้วระบายออกไป

– ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ให้อยู่เหนือชั้นดินเลนตะกอนทะเล ป้องกันไม่ให้สารไพไรท์ทำปฎิกริยากับออกซิเจน กรดกำมะถันจึงไม่ถูกปลดปล่อยเพิ่มขึ้น

– ใช้พืชพันธุ์ทนทานต่อความเป็นกรด มาปลูกในดินเปรี้ยว ใช้วิธีการต่าง ๆ ข้างต้นร่วมกัน

แกล้งดินสำเร็จแล้วราษฎรได้ประโยชน์อะไร

เมื่อผลของการศึกษาทดลอง สำเร็จผลชั้นหนึ่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลการศึกษาทดลองขยายผลสู่พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีพระราชดำริว่า

“…พื้นที่บริเวณบ้านโคกอิฐ และโคกในเป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรมีความต้องการจะปลูกข้าว ทางชลประทานได้จัดส่งน้ำชลประทานให้ ก็ให้พัฒนาดินเปรี้ยว เหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ประสานงานกับชลประทาน…”

จากการพัฒนาบ้านโคกอิฐ และบ้านโคกใน ปรากฏว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว สามารถปลูกข้าวให้ได้ผล ผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ถึงกับมีรับสั่งว่า

“…เราเคยมาโคกอิฐ โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถึง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น… อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น…แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อ ข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้”

อย่างไรก็ตาม “โครงการแกล้งดิน” มิได้หยุดลงเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่จะต้องดำเนินการต่อไป “…งานปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไป ทั้งในแง่การศึกษาทดลองและการขยายผล…” ซึ่งปัจจุบันได้นำผลการศึกษาทดลอง ไปขยายผลแก่ราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้จะมีการนำผลของการ “แกล้งดิน” นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย ดังนั้น “โครงการแกล้งดิน” จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรทั่ว ทั้งประเทศ สร้างความปลื้มปิติ แก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรว ทรงยอมตรากตรำพระวรกายลงมา “แกล้งดิน” เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ พ้นจากความยากจนกลับ มาเบิกบานแจ่มใสกันทั่วหน้า

"แกล้งดิน" แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย
“แกล้งดิน” แนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เกษตรกรไทย

ขอบคุณที่มา : มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button