ส่งเสริมปลูก “สุคนธรส” พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง
ส่งเสริมปลูก “สุคนธรส” พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะส่งเสริมปลูกเลี้ยง “สุคนธรส” หรือ เสาวรสยักษ์ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ด้วยมีคุณสมบัติเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ นำมาแปรรูปได้ตลอดทั้งต้น มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลากหลาย หวังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับจากสถานการณ์โควิด-19 ในระยะยาว พร้อมเผยความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการฉายรังสี จำนวน 5 สายพันธุ์ มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงรี เปลือกผลบาง เนื้อหุ้มเมล็ดหนา กลิ่นหอม รวมทั้ง ลำต้น ใบ มีความแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อโรคและแมลง
ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตดังกล่าวก็มีโอกาสให้กับทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจให้การดำเนินชีวิตก้าวต่อไปได้ในระยะยาว แนวทางหนึ่ง ซึ่ง วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมภาคเกษตรกรรม ในด้านเกษตรอินทรีย์ วิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นบ้าน และพืชเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์พืช ทั้งนี้ “สุคนธรส” หรือ “เสาวรสยักษ์” คือ ไม้ผลที่ วว. มองเห็นศักยภาพที่ควรรณรงค์ให้มีการปลูกเลี้ยงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่
“…ปัจจุบัน การปลูกเลี้ยงสุคนธรสมีเพียงบางพื้นที่ ทำให้สุคนธรสยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เกษตรกรส่วนใหญ่มักนิยมปลูกสุคนธรสเพื่อการบริโภคเฉพาะภายในครัวเรือน สำหรับการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นการค้ายังประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพของสายพันธุ์ เนื่องจากต้นพันธุ์สุคนธรสที่ใช้ในการเพาะปลูกทางการค้ายังมีอยู่อย่างจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามของดอกและขนาดของผลที่ใหญ่โต รวมทั้งประโยชน์ในการแปรรูปเป็นอาหารตั้งแต่ใบ ดอก และผล ทำให้สุคนธรสเป็นผลไม้ทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะในการส่งเสริมปลูกเลี้ยงและนำไปพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไป…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ดำเนินโครงการการปรับปรุงสายพันธุ์สุคนธรสลูกผสม และเสาวรสสายพันธุ์กลายโดยวิธีการฉายรังสี ซึ่งประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงสายพันธุ์สุคนธรส และเสาวรส เพื่อส่งเสริมปลูกเลี้ยงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน โดยพื้นที่ในจังหวัดดังกล่าวสามารถปลูกเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ดี
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลสนับสนุนแนวคิดการรณรงค์ให้มีการปลูกเลี้ยงให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ว่า สุคนธรส มีชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora quadrangularis L. ชื่อสามัญ Giant granadilla เป็นพืชสกุลเดียวกับเสาวรส ซึ่งเป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ ไม่ว่าจะรับประทานในรูปของผลสดหรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มที่อุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งนี้ “สุคนธรส” มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ดังนี้ เสาวรส (กะทกรกฝรั่ง) สุคนธรส (ภาคกลาง) แตงกะลา มะแตงสา หรือแตงสา (ภาคกลาง และตะวันตก) บางพื้นที่เรียกว่า กะทกรกยักษ์ หรือเสาวรสยักษ์ เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากะทกรก (เสาวรส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสุคนธรส เป็นไม้เถาเลื้อยมีมือเกาะ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีปีกแคบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ชาวบ้านนิยมนำใบอ่อน ยอดอ่อน มาลวกจิ้มน้ำพริกรับประทาน หรือนำใบมาตากแห้งเป็นชาชงดื่ม แก้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และลดไขมันในเส้นเลือด ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กาบดอกหุ้มสีเขียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเขียว เจือสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมแรงมาก ผลดิบสีเขียวอ่อนมีขนาดใหญ่ ความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักผล 0.5 – 1.0 กิโลกรัม รูปทรงกระบอกแกมรีหรือรูปไข่ เนื้อภายนอกของสุคนธรสมีประโยชน์และสรรพคุณหลายอย่าง ผลอ่อนรับประทานเนื้อผล นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก นอกจากนี้ เปลือกผลยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้แช่อิ่มหรืออบแห้ง สำหรับรับประทานเป็นขนมขบเคี้ยว ภายในผลดิบจะมีเมล็ดสีดำที่ถูกหุ้มด้วยรกสีขาว ผลสุกมีสีเหลือง ภายในผลจะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานเช่นเดียวกับเสาวรส แต่อาจจะมีรสชาติหวานและกลิ่นหอมกว่า ชาวบ้านบางพื้นที่นิยมนำเมล็ดไปคลุกกับเกลือก่อนรับประทานเพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม จำหน่ายเป็นสินค้าระดับชุมชน สำหรับเนื้อหุ้มเมล็ดหรือน้ำสุคนธรสอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ด้วยลักษณะของเนื้อหุ้มเมล็ดที่นำมาใช้รับประทานมีปริมาณน้อย จึงทำให้สุคนธรสไม่ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นการค้าเมื่อเทียบกับเสาวรส วว. จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในพืชดังกล่าวและมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะดีสำหรับการปลูกเลี้ยงเพื่อการค้า
“…จากการดำเนินโครงการวิจัยที่ผ่านมา เป็นการรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์เสาวรสชนิดต่างๆ พร้อมทำการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุคนธรส เสาวรสสีม่วง และเสาวรสสีเหลือง ตลอดจนการนำไปฉายรังสีเพื่อให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยนำสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการผสมข้ามในแต่ละคู่ผสมและสายพันธุ์กลายมาปลูกทดสอบการเจริญเติบโต และเก็บข้อมูลการให้ผลผลิตของลูกผสม เพื่อให้ได้สายพันธุ์สุคนธรสสายพันธุ์ลูกผสม และสายพันธุ์กลายที่สามารถพัฒนาเพื่อปลูกเลี้ยงเชิงการค้า ทั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลลักษณะพันธุ์และผลผลิตของสายพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะดีและเด่น จำนวน 5 สายพันธุ์ และลักษณะการกลายพันธุ์ของเสาวรสสายพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการฉายรังสี จำนวน 5 สายพันธุ์ และลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงรี เปลือกผลบาง เนื้อหุ้มเมล็ดหนา และกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังพบว่า สายพันธุ์ที่พัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการฉายรังสีลำต้น และใบจะมีความแข็งแรงเจริญเติบโตเร็ว ทนต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี…” นักวิจัย วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำปรึกษาจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 02-577-9000 อีเมล tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ เทคโนโยยีชาวบ้าน