ข่าวสาร

เตือน !! เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง

เตือน !! เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง

รมว. เฉลิมชัยสั่งเข้มให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำจากอิทธิพลของพายุโคนีอย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าช่วยเหลือและบรรเทาภัยตลอด 24 ชั่วโมง ปลัดเกษตรฯ มอบสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับพื้นที่ เพื่อให้การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ทำได้รวดเร็วที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลของพายุโคนีต่อเนื่อง จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า พายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 5 พ.ย. จากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ แต่ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางกับมีลมแรงระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ย.

ทั้งนี้ ห่วงใยประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรีซึ่งมีฝนตกจากอิทธิพลของพายุและหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนหน้ามาหลายระลอก จึงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่ที่ยังมีน้ำขังอยู่ รวมทั้งห่วงผลผลิตของเกษตรกรทั้งข้าวที่กำลังออกรวง ปศุสัตว์ และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำเพื่อบรรเทาความเสียหาย

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ย้ำให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ต้องคำนวณอย่างแม่นยำว่า สามารถรับน้ำเพิ่มได้อีกเท่าไรเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่หากฝนที่ตกลงมาเพิ่มจะทำให้น้ำเกินเกณฑ์ จำเป็นต้องระบายน้ำออก ต้องให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง
เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดเกษตรฯ กล่าวว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร รายงานว่า วันนี้ (4 พ.ย.) ยังมีอุทกภัยใน 5 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี

สำหรับที่จ.นครราชสีมา ย้ำให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองที่มีน้ำคิดเป็นร้อยละ 117 ของความจุ เขื่อนลำพระเพลิงน้ำคิดเป็นร้อยละ 108 ของความจุ และเขื่อนลำแซะคิดเป็นร้อยละ 110ของความจุ ซึ่งหากฝนตกลงมาอีกระลอกต้องประเมินเรื่องการระบายน้ำออกจากอ่าง โดยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ลำน้ำด้านท้ายสามารถรองรับได้ รวมทั้งสั่งให้ระบายน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงที่จ.อุบลราชธานีให้มากที่สุด เมื่อน้ำที่ไหลจากจ.นครราชสีมาไหลลงไปถึงจ.อุบลราชธานี ระยะเวลาเดินทาง 20 วันจะได้ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมอ.วารินชำราบ ขณะนี้จ.นครราชสีมายังคงมีน้ำท่วมขังใน 6 อำเภ ได้แก่ ปักธงชัย วังน้ำเขียว โชคชัย เฉลิมพระเกียรติ เมือง และพิมาย สำนักเครื่องจักรกลและสำนักงานชลประทานที่ 8 ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 53 เครื่องและเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง (สำรอง 13 เครื่อง) พร้อมสนับสนุนรถแบคโฮ 9 คัน โดยนำรถแบคโฮ 5 คัน ขุดลอกคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.ข่อยงาม และ ปตร. จอหอ 9 เครื่อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนพิมาย พร้อมกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำมูลและลำน้ำจักราช

เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง
เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง

ที่ จ.อุบลราชธานีในลำน้ำมูลเเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมือง ระดับน้ำสูง 30 – 50 ซม. สำนักงานชลประทานที่ 7 นำกระสอบทราย 500 ใบวางแนวกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณโรงเรียนเบญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) นอกจากนี้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำถึง 50 เครื่องบริเวณสะพานพิบูลมังสาหารเร่งระบายน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง

จ.สุราษฎร์ธานีน้ำจากแม่น้ำตาปีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตาปีรวม 4 อำเภอ ได้แก่ เคียนซา พุนพิน บ้านนาสาร และบ้านนาเดิม หากฝนไม่ตกเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 วัน แต่โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานียังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดเตรียมศูนย์อพยพไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉินแล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ คาดว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังจะกลับสู่ภาวะปกติใน 2 – 3 วัน

เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง
เกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโคนีตลอด 24 ชั่วโมง

นายทองเปลว กล่าวว่า สั่งการให้ตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับพื้นที่ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ หากพื้นที่ใดประสบภัย จะต้องเข้าช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง อีกท้งสามารถรายงานมายังกระทรวงฯ ได้ตลอดเวลาเพื่อที่ผู้บริหารจะได้ตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ทันท่วงที สำหรับผลความเสียหายด้านการเกษตรที่สำรวจแล้วพบว่า ได้รับผลกระทบ 21 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี ชัยนาท ฉะเชิงเทรา นครปฐม สตูล สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง เกษตรกร 108,366 ราย พื้นที่ 794,034 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 370,979 ไร่ พืชไร่ 360,438 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 62,617 ไร่


สำรวจความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1,133 ราย พื้นที่เสียหาย 11,288 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 13.60 ล้านบาท ด้านประมง เกษตรกร 2,587 ราย พื้นที่ (บ่อปลา) 2,385 ไร่ บ่อกุ้ง 43 ไร่ กระชัง 4,535 ตรม. สำรวจความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1 ราย พื้นที่ 1 ไร่ คิดเป็นเงิน 0.02 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 1 ราย พื้นที่ 1 ไร่ วงเงิน 21,125 บาท และด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 7,154 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 266,588 ตัว แบ่งเป็น โค – กระบือ 34,578 ตัว สุกร 6,332 ตัว แพะ – แกะ 1,686 ตัว สัตว์ปีก 223,990 ตัว แปลงหญ้า 958 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ขณะนี้ทางกระทรวงฯ เตรียมแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพ 7 โครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีซึ่งคาดว่า จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า

ขอบคุณที่มา : สำนักข่าวไทย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button